อุปนิสัยและทัศนคติ ของ พระสุนทรโวหาร (ภู่)

อุปนิสัย

ตำราโหราศาสตร์ผูกดวงชะตาวันเกิดของสุนทรภู่ไว้เป็นดวงประเทียบ พร้อมคำอธิบายข้างใต้ดวงชะตาว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา"[12] เหตุนี้จึงเป็นที่กล่าวขานกันเสมอมาว่า สุนทรภู่นี้ขี้เหล้านัก ในงานเขียนของสุนทรภู่เองก็ปรากฏบรรยายถึงความมึนเมาอยู่หลายครั้ง แม้จะดูเหมือนว่า สุนทรภู่เองก็รู้ว่าการมึนเมาสุราเป็นสิ่งไม่ดี ได้เขียนตักเตือนผู้อ่านอยู่ในงานเขียนเสมอ[18] การดื่มสุราของสุนทรภู่อาจเป็นการดื่มเพื่อสังสรรค์และเพื่อสร้างอารมณ์ศิลปิน ด้วยปรากฏว่าเรือนสุนทรภู่มักเป็นที่ครึกครื้นรื่นเริงกับหมู่เพื่อนฝูงอยู่เสมอ[6] นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า เวลาที่สุนทรภู่กรึ่ม ๆ แล้วอาจสามารถบอกกลอนให้เสมียนถึงสองคนจดตามแทบไม่ทัน[12] เมื่อออกบวช สุนทรภู่เห็นจะต้องพยายามเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดก็สามารถทำได้ดี ขณะที่รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มองว่า เรื่องที่ว่าสุนทรภู่ขี้เมานั้นไม่มีการบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งสุนทรภู่มีผลงานเขียนอยู่มาก หากเป็นคนลุ่มหลงในสุราคงไม่มีเวลาไปเขียนหนังสือเป็นแน่[1]

สุนทรภู่มักเปรียบการเมาเหล้ากับการเมารัก ชีวิตรักของสุนทรภู่ดูจะไม่สมหวังเท่าที่ควร หลังจากแยกทางกับแม่จัน สุนทรภู่ได้ภรรยาคนที่สองชื่อแม่นิ่ม นอกจากนี้แล้วยังปรากฏชื่อหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่สุนทรภู่พรรณนาถึง เมื่อเดินทางไปถึงหย่อมย่านมีชื่อเสียงคล้องจองกับหญิงสาวเหล่านั้น นักวิจารณ์หลายคนจึงบรรยายลักษณะนิสัยของสุนทรภู่ว่าเป็นคนเจ้าชู้ และบ้างยังว่าความเจ้าชู้นี้เองที่ทำให้ต้องหย่าร้างกับแม่จัน ความข้อนี้เป็นจริงเพียงไรไม่ปรากฏ ขุนวิจิตรมาตราเคยค้นชื่อสตรีที่เข้ามาเกี่ยวพันกับสุนทรภู่ในงานประพันธ์ต่าง ๆ ของท่าน ได้ชื่อออกมากว่า 12 ชื่อ คือ จัน พลับ แช่ม แก้ว นิ่ม ม่วง น้อย นกน้อย กลิ่น งิ้ว สุข ลูกจันทน์ และอื่น ๆ อีก[5] ทว่าสุนทรภู่เองเคยปรารภถึงการพรรณนาถึงหญิงสาวในบทประพันธ์ของตนว่า เป็นไปเพื่อให้ได้อรรถรสในงานประพันธ์เท่านั้น จะถือเป็นจริงเป็นจังมิได้[19] อย่างไรก็ดี การบรรยายความโศกเศร้าและอาภัพในความรักของสุนทรภู่ปรากฏอยู่ในงานเขียนนิราศของท่านแทบทุกเรื่อง สตรีในดวงใจที่ท่านรำพันถึงอยู่เสมอก็คือแม่จัน ซึ่งเป็นรักครั้งแรกที่คงไม่อาจลืมเลือนได้ แต่น่าจะมีความรักใคร่กับหญิงอื่นอยู่บ้างประปราย และคงไม่มีจุดจบที่ดีนัก ใน นิราศพระประธม ซึ่งท่านประพันธ์ไว้เมื่อมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่ได้อธิษฐานไม่ขอพบกับหญิงทิ้งสัตย์อีกต่อไป[20]

อุปนิสัยสำคัญอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่คือ มีความอหังการ์และมั่นใจในความสามารถของตนเป็นอย่างสูง ลักษณะนิสัยข้อนี้ทำให้นักวิจารณ์ใช้ในการพิจารณางานประพันธ์ซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงอยู่ว่า เป็นผลงานของสุนทรภู่หรือไม่ ความอหังการ์ของสุนทรภู่แสดงออกมาอย่างชัดเจนอยู่ในงานเขียนหลายชุด และถือเป็นวรรคทองของสุนทรภู่ด้วย เช่น

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่วถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว   เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร[21] 

หรืออีกบทหนึ่งคือ

หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ     พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร[22] 

เรื่องความอหังการ์ของสุนทรภู่นี้ เล่ากันว่าในบางคราวสุนทรภู่ขอแก้บทพระนิพนธ์ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ต่อหน้าพระที่นั่งโดยไม่มีการไว้หน้า ด้วยถือว่าตนเป็นกวีที่ปรึกษา กล้าแม้กระทั่งต่อกลอนหยอกล้อกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยที่ไม่ทรงถือโกรธ แต่กลับมีทิฐิของกวีที่จะเอาชนะสุนทรภู่ให้ได้[12] การแก้กลอนหน้าพระที่นั่งนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ล่วงเกินต่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจออกบวชหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้วก็เป็นได้[12]

ทัศนคติ

สุนทรภู่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และตอกย้ำเรื่องการศึกษาในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง เช่น ขุนแผนสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ   เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน"[23] หรือที่พระฤๅษีสอนสุดสาครว่า "รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา   รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"[24] โดยที่สุนทรภู่เองก็เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความรู้กว้างขวางอย่างยิ่ง เชื่อว่าสุนทรภู่น่าจะร่วมอยู่ในกลุ่มข้าราชการหัวก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น ที่นิยมวิชาความรู้แบบตะวันตก ภาษาอังกฤษ ตลอดกระทั่งแนวคิดยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสตรีมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่สะท้อนแนวความคิดของสุนทรภู่ออกมามากที่สุดคืองานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งโครงเรื่องมีความเป็นสากลมากยิ่งกว่าวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ ตัวละครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตัวละครเอกเช่นพระอภัยมณีกับสินสมุทรยังสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา นอกจากนี้ยังเป็นวรรณคดีที่ตัวละครฝ่ายหญิงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูง เช่นนางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาที่สามารถเป็นเจ้าครองเมืองได้เอง นางวาลีที่เป็นถึงที่ปรึกษากองทัพ และนางเสาวคนธ์ที่กล้าหาญถึงกับหนีงานวิวาห์ที่ตนไม่ปรารถนา อันผิดจากนางในวรรณคดีไทยตามประเพณีที่เคยมีมา[25]

ลักษณะความคิดแบบหัวก้าวหน้าเช่นนี้ทำให้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกสมญาสุนทรภู่ว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี"[25] ซึ่งแสดงถึงชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อทรัพย์สินเงินทองเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นนอกเหนือไปจากยศถาบรรดาศักดิ์ งานเขียนเชิงนิราศของสุนทรภู่หลายเรื่องสะท้อนแนวคิดด้านเศรษฐกิจ รวมถึงวิจารณ์การทำงานของข้าราชการที่ทุจริตคิดสินบน ทั้งยังมีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสตรีมากยิ่งขึ้นด้วย[25] ไมเคิล ไรท์[note 1] เห็นว่างานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เป็นการคว่ำคติความเชื่อและค่านิยมในมหากาพย์โดยสิ้นเชิง โดยที่ตัวละครเอกไม่ได้มีความเป็น "วีรบุรุษ" อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าในตัวละครทุก ๆ ตัวกลับมีความดีและความเลวในแง่มุมต่าง ๆ ปะปนกันไป[26]

อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางงานประพันธ์อันแหวกแนวล้ำยุคล้ำสมัยของสุนทรภู่ ความจงรักภักดีของสุนทรภู่ต่อพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ยังสูงล้ำเป็นล้นพ้นอย่างไม่มีวันจางหายไปแม้ในวาระสุดท้าย สุนทรภู่รำพันถึงพระมหากรุณาธิคุณหลายครั้งในงานเขียนเรื่องต่าง ๆ ของท่าน ในงานประพันธ์เรื่อง นิราศพระประธม ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์หลังจากลาสิกขาบท และมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่เรียกตนเองว่าเป็น "สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ   พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร" กล่าวคือเป็นอาลักษณ์ของ "พระเจ้าช้างเผือก" อันเป็นพระสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[27] สุนทรภู่ได้แสดงจิตเจตนาในความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลาย ปรากฏใน นิราศภูเขาทอง ความว่า "จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย   ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา   เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา   ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระสุนทรโวหาร (ภู่) http://www.amazon.com/Story-Phra-Abhai-Mani/dp/B00... http://www.patravaditheatre.com/portfolio_main.asp http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2678.0 http://guru.sanook.com/pedia/topic/%E0%B8%9B%E0%B8... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Foru... http://www.sunthonphu.com/ http://www.thingsasian.com/item.html?itemId=2441&b... http://members.tripod.com/sakchaip/bookworm/suntho... http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/lyric/po... http://www.thaitux.info/dict/?words=%E0%B8%9B%E0%B...